วันศุกร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ดนตรีกับชีวิตมนุษย์ ประโยชน์และคุณค่าของดนตรี

สิ่งหนึ่งที่อยู่คู่กับมนุษย์มานานจนกลายเป็นวัฒนธรรมของแต่ ละเชื้อชาติ สิ่งนั้นก็คือ 'ดนตรี'  มีการประพันธ์บทเพลง เพื่อบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ และนำเครื่องดนตรีมาบรรเลงเพื่อความไพเราะ ดนตรีจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ ปัจจุบันมีการนำดนตรีมาใช้บำบัดโรค หลายคนจึงตั้งข้อสงสัยว่าแท้จริงแล้วดนตรีสามารถบำบัดโรคได้หรือไม่
      อ.ดุษฏี พนมยงค์ บุญทัศนกุล ผู้เขียนหลักสูตรดนตรีพัฒนาคุณภาพชีวิต อธิบายว่าดนตรีมีความเกี่ยวพันกับมนุษย์ตั้งแต่แรกเกิดโดยแม่จะร้อง เพลงกล่อมลูก ครั้นเมื่อถึงวันสุดท้ายของชีวิต ก็มีการใช้ดนตรีในพิธีกรรมต่างๆ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างดนตรีกับมนุษย์ได้มีมานานแล้ว ในปัจจุบันวงการแพยท์ก็ได้มีการนำดนตรีมากระตุ้นการทำงานของสมอง และระบบทำงานของอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย โดยเฉพาะระบบการหายใจ โดยการใช้วิธีเปล่งเสียงช่วย ซึ่งการรักษาด้วยวิธีนี้ในประเทศไทย ได้มีมากว่า 20ปีแล้ว การใช้ดนตรีเพื่อบำบัดจิตใจหรือร่างกายนั้น ผู้รักษาจะต้องเป็นแพยท์หรือนักจิตวิทยาบำบัดเท่านั้น
     ดนตรีเป็นส่วนสำคัญของชีวิต....แม้แต่ทารกที่อยู่ในครรภ์ก็ยังชอบฟังดนตรี อ.ดุษฏี พนมยงค์ บุญทัศนกุล อธิบายว่า นี่เป็นหลักทางวิทยาศาสตร์ และเป็นหลักการแพทย์ ซึ่งแพทย์ในต่างประเทศได้พิสูจน์ว่าทารกที่อยู่ในครรภ์ของมารดา สามารถได้ยินเสียงจากภายนอกครรภ์ได้ โดยทารกจะฟังความเคลื่อนไหว ของอวัยวะภายในครรภ์มารดา ในประเทศตะวันตกแพทย์ได้นำหลักการนี้มาใช้ โดยให้ทารกฟังดนตรีตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา เพื่อทำให้ทารกมีเซลล์สมองเพิ่มมากขึ้น และทำให้บริเวณระหว่างเชลล์มีเครื่อข่ายที่เชื่อมโยงกัน เมื่อเด็กฟังดนตรีที่มีคุณภาพ เซลล์สมองของเขาจะเจริญเติบโตอย่างแข็งแรง แล้วเครื่อข่ายที่โยงใยระหว่างเซลล์ต่อเซลล์ก็จะมีมากขึ้น เหล่านี้คือสิ่งที่เราเรียกว่า 'ตรรกะ' หรือเหตุและผล เมื่อเด็กมีตรรกะตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาดังนั้นเมื่อเขาคลอดออกมาเขาก็จะมี จิตใจที่แจ่มใสและร่าเริง อย่างไรก็ตามดนตรีก็ต้องเลือกฟังเพราะถ้านำดนตรีบางประเภทมาให้เด็กฟังอาจทำ ให้เกิดความไม่สงบ เมื่อเด็กเกิดมาเขาอาจจะเป็นเด็กก้าวร้าวซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นหลักการ ทางวิทยาศาสตร์
TIPS    เสียง ดนตรีเสียงแรกของลูก คือ เสียงหัวใจของแม่ โดยรับรู้ผ่านประสาทสัมผัสของผิวหนังและการรับคลื่นเสียงที่ส่งผ่านมดลูกไป ยังน้ำคร่ำ รวมทั้งเวลาที่แม่พูด ร้องเพลง ฟังเพลงแบบเบาๆ สบายๆ จะทำให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลายและช่วยกระตุ้นการเรียนรู้ของลูก

ดนตรีได้เริ่มมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์มานานแล้วมนุษย์เราทุกคนเกิดมาล้วนแล้ว
แต่มีความหวาดกลัวติดตัวมาทุกคนซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เกิดดนตรีขึ้น กล่าวคือ การเกิด
ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ฝนตก ฟ้าร้อง แผ่นดินไหว ฯลฯ ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกชนชาติ
ทุกภาษาเกิดความกลัว ความกังวลใจ โดยคิดไปว่าสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เกิดจากสิ่งที่มองไม่เห็น หรือมี
ความเชื่อว่าเป็นจากการกระทำของภูตผีปีศาจ ฉะนั้น การที่จะทำให้ปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น
ให้หายไปก็สามารถทำได้โดยการบวงสรวง โดยการเต้นรำ การร้องเพลง เพื่อเป็นการอ้อนวอนต่อ
เทพเจ้า หรือเป็นการตอบแทนในความปรานีและอีกนัยหนึ่งก็เพื่อทำให้เกิดความสบายใจของ
มนุษย์เรา

จากจุดนี้เองได้มีนักปราชญ์ได้สันนิษฐานว่าเป็นต้นกำเนิดของดนตรีโดยมีการพัฒนาต่อ
มาจากบทร้องเพื่ออ้อนวอนต่อเทพเจ้าก็กลายมาเป็นเพลงที่เกี่ยวกับศาสนาในสมัยต่อมาซึ่งมี
ลักษณะทำนองเพลงสั้น ๆ ขับร้องซ้ำ ๆ กันหลาย ๆ ครั้ง จากการขับร้องคนเดียวกลายมาเป็นการ
ขับร้องที่มีต้นเสียงและมีลูกคู่ตาม จนเป็นการขับร้องหมู่ชายหญิงประสานเสียงที่มีลักษณะต่าง ๆ
กันออกไปตามสมัย

ดนตรีประกอบพิธีกรรมหรือเพลงศาสนาเป็นดนตรีที่สืบเนื่องมาจากความเชื่อถือในลัทธิ
ในขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ ตลอดจนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายตามที่มนุษย์เผ่าพันธุ์ต่าง ๆ สมมติ
ขึ้น และมีส่วนสำคัญที่ทำให้ศาสนารุ่งเรืองขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งศาสนาคริสต์

 ใน ชีวิตประจำวันของคนไทยในยุคเศรษฐกิจและสังคมเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาในภาวะ ปัจจุบันนี้เป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้คนเกิดความเครียด ความวิตกกังวลกับปัญหาต่าง ๆที่เข้ามารุมเร้าอย่างต่อเนื่องบางคนหาทางออกของปัญหาได้บางคนไม่ได้และแก้ ปัญหาโดยการคิดสั้น ซึ่งมีตัวอย่างมากมายในสังคมไทย แนวทางหนึ่งที่สามารถผ่อนคลายความเครียด ความวิตกกังวลได้คือการเปิดโอกาสให้กับ ดนตรี เข้ามามีส่วนร่วมในชีวิตประจำวันอย่างต่อเนื่อง มีผลต่อการเสริมสร้างสุขภาพกายและใจ ให้มีความสดชื่นแจ่มใส เบิกบาน เข้มแข็ง และมีกำลังใจในการต่อสู้กับอุปสรรคนานาประการอย่างมีสติ และสามารถดำรงชีวิตอย่างมีความสุข
        วิธีง่าย ๆที่นำมาใช้อย่างเหมาะสมกับเวลาและโอกาสคือ
        1.ฟังเพลง หรือร้องเพลงคลอเบา ๆขณะนั่งพักผ่อนหรืออาบน้ำ ควรเลือกเพลงหรือดนตรีที่มีจังหวะช้า ๆจะช่วยให้ระบบต่าง ๆในร่างกาบผ่อนคลายและสร้างอารมณ์ที่เบิกบาน ความรู้สึกที่สดชื่นกระปรี้กระเปร่า
        2.ฟังเพลงขณะรับประทานอาหาร ขณะเดินทาง หรือทำกิจกรรมที่เคลื่อนไหว การเลือกเพลงควรเลือกเพลงที่มีจังหวะปานกลาง ทำนองไพเราะ แจ่มใส นุ่มนวล
        3. ร้องเพลงตามเสียงเพลงที่ชื่นชอบ เพื่อเพิ่มออกซิเจนให้ปอด และเป็นการบริหารปอดให้แข็งแรง ร่างกายจะสดชื่นแข็งแรง
        4. ออกกำลังกายประกอบดนตรี ควรเป็นจังหวะที่เร็วเร้าใจจะทำให้เกิดพลัง ตื่นตัว เพลินเพลินไม่เบื่อหน่าย เช่น เต้นแอโรบิค การเต้นรำการเข้าจังหวะ การเต้นลีลาศ ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวอย่างช้า ๆ เข้ากับจังหวะถือเป็นการออกกำลังกายอย่างหนึ่งที่ช่วยให้ร่างกายมีการ เคลื่อนไหวที่สมดุล
        5. การทำงานที่ไม่ต้องใช้สมาธิมาก ควรมีเสียงดนตรีเบา ๆ จะช่วยผ่อนคลายและสร้างความชื่นบาน ถ้าเป็นงานที่ต้องใช้แรงงาน ดนตรีที่มีจังหวะเร็วและแรง จะช่วยให้เพลิดเพลินไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อย
        6. การฟังเพลงเบา ๆ ก่อนนอนเป็นการผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ทำให้หลับสบายและสามารถนอนหลับได้ยาวนานซึ่งทำให้ร่างกายได้พักผ่อนอย่าง เต็มที่ในเวลากลางคืน และร่างกายรู้สึกสดชื่นในเวลาตื่นนอนตอนเช้า
        ดนตรีนอกจากจะฟังเพื่อเพลิดเพลินแล้วถ้าเราสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับชีวิต ประจำวันอย่างเหมาะสมทำให้เราได้รับประโยชน์มากมายอย่างคาดไม่ถึง
 ดนตรี เป็นศิลปะอย่างหนึ่งที่มนุษย์ได้สร้างสรรค์ปรุงแต่งขึ้น    และได้เป็นเพื่อนทางจิตใจของมนุษย์มาช้านานแล้ว คำถามที่ว่าศิลปะแขนงนี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อใด   ไม่มีผู้ใดสามารถให้คำตอบได้    แต่ว่าอาศัยหลักฐานและข้ออิงทางมานุษยวิทยา (anthropology)   แล้ว ก็จะกล่าวได้ว่า    ดนตรีเริ่มมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์นานนักหนาแล้ว  มีหลักฐานว่าอารยธรรมของดนตรีในซีกโลกตะวันออกนั้น  เกิดขึ้นมาก่อนดนตรีในซีกโลกตะวันตก  ประมาณ 2,000 ปี  สิ่งหนึ่งที่ทำให้เกิดดนตรีขึ้นครั้งแรก คือ “ความหวาดกลัว”  ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ  ไม่ว่าการเกิดกลางวันหรือกลางคืน การผลัดเปลี่ยนของฤดูกาล  ฟ้าแลบ ฟ้าร้อง  ฝนตก  น้ำท่วม  แผ่นดินไหว ฯลฯ   ล้วนเป็นสิ่งที่สร้างความประหวั่นพรั่นพรึงและความกังวลใจให้แก่มนุษย์ในยุค นั้นเป็นอันมาก    พวกเขามีความเข้าใจว่า   ปรากฏการณ์ต่างๆเหล่านี้มีทั้งพระเจ้าที่ดีและร้ายอยู่ในตัว   
ไม่เพียงแต่เท่านี้มนุษย์ยังมีความเชื่อว่าความงอกงาม ของพืชพันธุ์ธัญชาติ การพ้นภยันตรายจากสัตว์ร้าย  การฟื้นหายจากโรคภัยไข้เจ็บ ฯลฯ    ก็ล้วนเป็นความกรุณาปรานีที่ได้รับจากพระเจ้าทั้งสิ้น   ฉะนั้น    การที่จะเอาใจและตอบแทนบุญคุณพระเจ้าต่างๆก็จะทำได้โดยการบวงสรวง  การเต้น  การร้อง    และการแสดงสิ่งที่เขาปรารถนาจะให้เกิดขึ้น        สิ่งที่ทำให้เกิดดนตรีขึ้นอีกอย่างหนึ่งก็คือ   “ความสบายอกสบายใจ”    นัก ปราชญ์ได้สันนิษฐานว่าผู้หนึ่งผู้ใดที่ออกไปล่าสัตว์    ขณะทีเรารอดักสัตว์อย่างสบายอารมณ์อยู่นั้น    เขาอาจจะเอาคันธนูหรือหน้าไม้มาลองดีดสายดู     เมื่อเขาสามารถดีดให้เกิดเสียงสูงต่ำบ้าง   เขาก็เกิดความพอใจ    และคันธนูก็ได้เป็นต้นกำเนิดของพิณขึ้นในเวลาต่อมา    ส่วนปี่และขลุ่ยเกิดขึ้นมาอย่างไรนั้น   นักปราชญ์ก็ได้สันนิษฐานว่าพวกเด็กเลี้ยงแกะ   เด็กเลี้ยงวัว   เมื่อนำฝูงสัตว์ของตนออกไปเลี้ยงตามท้องทุ่งก็อาจเกิดความรู้สึกเบื่อหน่าย แลกงอยเหงา    การที่จะแก้อาการเหล่านี้    เขาอาจจะไปตัดปล้องไม้หรือเก็บเอากระดูกสัตว์มาถือจับเล่นก่อน    เผอิญปล้องไม้หรือกระดูกสัตว์นั้นเกิดมีรู    และเผอิญอีกเช่นกันที่เขาเอามันมาลองเป่าดู   ครั้นเกิดเป็นเสียงเขาก็คงจะทึ่งจะกับมันมาก    และพยายามปรับปรุงสิ่งเหล่านั้นจนกลายเป็นเพื่อนแก้เหงาได้   สำหรับกลองนั้น    นักปราชญ์ให้ความเห็นว่า    มนุษย์ในยุคนั้นคงลองเอาขนสัตว์ขึงบนหินที่กลวงหรือไม่ก็บนต้นไม้กลวง    เมื่อเอาลองมือและไม้ตีบนหนังที่ขึงตึงนั้นก็จะเกิดเสียงดังขึ้น    และนี่คือต้นกำเนิดกลองใบแรกของโลก   ท่านทั้งหลายคงจะเคยเห็นรูปร่างและเคยฟังเสียงของเครื่องดนตรีบางชนิดของวง ดุริยางค์ในปัจจุบันมาแล้ว    เป็นต้นว่า  พิณฮาร์พ  ขลุ่ยฟลูท  กลองทิมปานี  เครื่องดนตรีเหล่านี้ได้มีวิวัฒนาการเป็นขั้นๆ  ต่อเนื่องกันมานานนักหนาแล้วจากสิ่งที่คนในยุคก่อนประวัติศาสตร์ได้ก่อ กำเนิดมันขึ้นตามที่ได้กล่าวมาแล้ว    
             ครั้นเมื่อมนุษย์รู้จักการเพาะปลูกและนำสัตว์มาเลี้ยง    พวกเขาก็เริ่มตั้งถิ่นฐาน    สร้างที่พักอาศัยเป็นหลักแหล่งสังคมของเขาเริ่มขยายตัวและซับซ้อนขึ้น    มีการช่วยเหลือระหว่างกันมากกว่าแต่ก่อน    พวกเขาจึงไม่จำเป็นต้องออกไปล่าสัตว์ตามลำพังและอยู่อย่างเร่ร่อน    เวลาว่างก็ได้มีมากขึ้นเป็นเงาตามตัว     เขาได้ใช้เวลาว่างปรับปรุงสภาพเป็นอยู่ของเขาให้ดีขึ้น   และดนตรีก็พลอยได้รับการปรับปรุงตามไปด้วย    สิ่งที่น่าสังเกตอย่างหนึ่งคือ     มนุษย์เริ่มมีความศรัทธาหรือความเชื่อมั่นต่อสิ่งศักดิ์ร่วมกันมากยิ่ง ขึ้น     และในเวลาต่อมาเมื่อศาสนาได้อุบัติขึ้น    การขับร้องและการบรรเลงก็ค่อยๆมีวิวัฒนาการกลายเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมทาง ศาสนา             เพลงศาสนาหรือดนตรีทางศาสนานี้เองที่มีส่วนสำคัญ  ทำให้ศาสนารุ่งเรืองขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคริสต์ศาสนา  ประจักษ์พยานที่ทำให้เรานึกถึงเรื่องนี้ได้อย่างถ่องแท้คือ  วิวัฒนาการของดนตรีคริสต์ศาสนาตั้งแต่มัธยมสมัยของยุโรปมาจนถึงปลายคริสต์ ศตวรรษที่  19  ซึ่งนับเป็นช่วงเวลานานร่วม  7  ศตวรรษ  อนึ่งคำว่า "ดนตรีศาสนา"  นี้ตรงกับคำในภาษาอังกฤษที่ว่า  church music  หรือsacred music  คำในภาษาอังกฤษทั้งสองนี้ได้ใช้กันมาอย่างกว้างขวางทัดเทียมกัน
                  ดังได้กล่าวแล้วว่า Sacred music คือ  ดนตรีศาสนา  ที่ตรงกันข้ามกับคำนี้คือ secular music  คำว่า secular music  ก็คือดนตรีที่ให้ความรื่นเริงทางโลกหรือให้ความบันเทิงใจกับปุถุชน  ถ้าจะพูดให้เข้าใจอย่างง่าย ๆ  ก็จะพูดว่า secred music  คือ  "ดนตรีวัด"  และ  secular music  คือ "ดนตรีบ้าน"  ทั้งนี้เพราะ secred music  มักขับร้องแลบรรเลงกันในวัด  ส่วน secular music  ส่วนมากจะปฏิบัติและฟังกันตามบ้าน  ซึ่งนับตั้งแต่พระราชวังลงไปจนถึงทับของคนยากคนจนในขณะที่ดนตรีศาสนากำลัง เจริญเฟื่องฟูอยู่นั้น  ดนตรีที่ให้ความรุ่งเรืองเฟื่องฟูอยู่นั้น  ดนตรีที่ให้ความรื่นเริงบันเทิงใจก็ได้ก้าวรุดหน้าไปไม่น้อย  ผู้คนได้นำเอาดนตรีมาใช้ในชีวิตประจำวันมากยิ่งขึ้น  เช่น  ใช้ประกอบการงานที่ใช้อยู่ทั้งในบ้านและนอกบ้าน  เพลงประเภทนี้เรียกว่า  "เพลงขับร้องระหว่างการทำงาน"  (work song)  ซึ่งได้แก่  เพลงเกี่ยวข้าว  เพลงเก็บฝักข้าวโพด  เพลงปั่นฝ้าย เพลงคนตัดต้นไม้ เป็นต้น  
                  ในบรรดาเพลงขับร้องระหว่างการทำงาน  เห็นจะไม่มีเพลงใดขึ้นชื่อเท่าเพลง "Song of the Volga  Bothman" เพลง นี้เป็นเพลงพื้นเมืองเก่าแก่ของรัสเซีย  เป็นเพลงของชาวเรือในแม่น้ำโวลก้าสมัยก่อน  ชาวเรือจะเข้าแถวอยู่บนริมฝั่ง  ช่วยกับฉุดลากเรือเพื่อให้แล่นทวนกระแสน้ำ  พร้อมกันนั้นเขาจะร้องเพลงนี้ช่วยให้จังหวะของการทำงานดีขึ้น
                    เมื่อกล่าวถึงชาวเรือ  ก็ควรจะกล่าวถึงเพลงชาวเรือบทหนึ่งซึ่งเป็นที่รู้จักกันดี  เพลนั้นก็คือ  เพลงชาวเรือเนเปิลส์ (Neapolitan  both song)  ซึ่งมีชื่อว่า  "Santa Lusia"(อ่าน ว่า  ซันตา  ลูซิอา)   เสน่ห์ของเพลงนี้อยู่ตรงท่วงทำนองอันชวนให้ใฝ่ฝัน  ชาวเรือในอ่าวเมืองเนเปิลส์  ประเทศอิตาลี  จะขับร้องเพลงไพเราะบทนี้ในยามคำคืน  รำพึงถึงความอ้างว้างของท้องทะเล  และความงดงามของระลอกคลื่นที่ส่งประกายระยิบระยับสีเงินยวงเมื่อต้องแสง จันทร์
                     เพลงที่ให้ความรื่นเริงบันเทิงใจแก่คนทั่ว ๆ  ไปนอกจากเพลงขับร้องระหว่างการทำงานแล้ว  ก็ยังมีเพลงประกอบการเล่น  เพลงประกอบระบำ  เพลงรัก เพลงกล่อมเด็ก  เพลงเทศกาลและเพลงอื่น ๆ อีกมากมาย
ประโยชน์ของดนตรีต่อสังคมมนุษย์
 ดัง ได้กล่าวมาแล้วว่าดนตรีนั้นก่อกำเนิดมาพร้อมๆกับสังคมมนุษย์  ดังนั้นมนุษย์จึงได้นำเอาดนตรีมาใช้ในการปรับปรุงพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดี ขึ้น  ซึ่งพอจะสรุปประโยชน์ของดนตรีที่มนุษย์นำมาใช้ได้ ดังนี้…………..
1. ด้านการศึกษา นำเสียงดนตรีมาใช้ประกอบในการสอนแบบสร้างสรรค์ทางศิลปะผลปรากฏว่าเสียงดนตรี สามารถส่งเสริมพัฒนาการทางอารมณ์ เสริมสร้างความคิดจินตนาการ ช่วยกระตุ้นให้มีการแสดงออกในทางสร้างสรรค์ ส่งเสริมให้มีความสัมพันธ์ระหว่างประสาทหู กล้ามเนื้อมือ ให้สอดคล้องกับการใช้ความคิด ทำให้หายเหนื่อย และผ่อนคลายความตึงเครียด 
หลักการดังกล่าวนี้มีใช้มาตั้งแต่สมัยกรีก ในยุคเฮเลนิสติค(Hellinistic Period 440-330 B.C)  ชนชาติกรีกได้พัฒนาหลักการของ อีธอส (Doctrine of ethos) ซึ่งเป็นความเชื่อในเรื่องของพลังแห่งสัจธรรมของดนตรี โดยกล่าวไว้ว่าพลัง ของดนตรีมีผลเกี่ยวเนื่องกับการแสดงออกถึงความชื่นชอบหรือความขัดแย้ง กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ดนตรีเกี่ยวข้องกับความดีและความชั่วร้าย   ในหนังสือ Poetics นั้น อริสโตเติล (Aristotle)ได้อธิบายว่าดนตรีมีอำนาจเหนือจิตใจมนุษย์   เขากล่าวว่าดนตรีเลียนแบบอารมณ์ต่าง ๆ ของมนุษย์ ฉะนั้นเมื่อมนุษย์ได้ยินดนตรีซึ่งเลียนแบบอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง ก็จะเกิดมีความรู้สึกคล้อยตามไป             ถ้าได้ยินดนตรีที่กระตุ้นอารมณ์ที่ทำให้จิตใจต่ำบ่อย ๆ เข้าก็ทำให้เขาพลอยมีจิตใจต่ำไปด้วย  ตรงกันข้ามถ้ามีโอกาสได้ฟังดนตรีที่ช่วยยกระดับจิตใจ ก็จะทำให้ผู้นั้นเป็นคนที่มีจิตใจสูง  ดังนั้น เปลโตและอริสโตเติล จึงมีความคิดเห็นตรงกันในข้อที่ว่าหลักสูตรการศึกษาควรประกอบด้วยวิชากีฬาและดนตรีที่ถูกต้อง   เพื่อเป็นการฝึกทั้งร่างกายและจิตใจ เปลโต สอนว่า      “การเรียนดนตรีอย่างเดียวทำให้อ่อนแอและเป็นคนมีปัญหา การเรียนกีฬาอย่างเดียวทำให้เป็นคนที่อารมณ์ก้าวร้าวและไม่ฉลาด”   ยิ่งกว่านั้นเปลโตยังได้กำหนดไว้ว่า  “ดนตรีที่เหมาะสมสำหรับการศึกษาไม่ควรมีลีลาที่ทำให้อารมณ์อ่อนไหว ควรใช้ทำนองที่มีลีลาดอเรียน(Dorian)และฟรีเจียน (Phrygian)” บันไดเสียงทั้งสองข้างต้นทำให้เกิดอารมณ์กล้าหาญและสุภาพเรียบร้อย  เปลโตยังเคยกล่าวไว้ว่า “จะให้ใครเป็นผู้เขียนกฎหมายก็แล้วแต่ ขอให้ข้าพเจ้าได้เป็นผู้แต่งเพลงประจำชาติก็แล้วกัน”
2.ด้านการแพทย์  ใช้ เสียงดนตรีกระตุ้นทารกในครรภ์มารดา ผลปรากฏว่าเด็กมีปฏิกิริยาตอบรับกับเสียงเพลง     ทั้งทางพฤติกรรมและร่างกายที่ดี  เสียงเพลงที่นุ่มนวลจะทำให้เด็กมีอาการสงบเงียบ ร่างกายเจริญเติบโตขึ้นและยังช่วยให้ระบบหายใจและระบบย่อยอาหารดีขึ้น
การ นำเสียงดนตรีมาบำบัดรักษาผู้ป่วยปัญญาอ่อน   โดยเฉพาะการใช้ดนตรีลดหรือบรรเทาความเจ็บปวดหลังการผ่าตัดของผู้ป่วยใน 48 ชั่วโมงแรก ผลปรากฏว่าช่วยให้ผู้ป่วยผ่อนคลายภาวะทางอารมณ์ได้เป็นอย่างดี  ดังที่ผู้ใช้นามปากกาว่า  คุณทองจีน  บ้านแจ้ง  เขียนไว้ในเรื่อง แกะสะเก็ดคลาสสิค ในหนังสือ ชาวกรุง ฉบับที่ 5 พ.ศ.2522  ว่า “หมอชาวกรีกโบราณท่านหนึ่งชื่อว่า แอสคลีปีอุส(Asclepius)ได้ใช้ดนตรีบรรเลงให้ผู้ป่วยหลังการผ่าตัดแล้วฟัง ปรากฏว่าช่วยทุเลาอาการเจ็บปวดได้ดี”  

                3. ด้านสังคม  มีการใช้จังหวะดนตรีมากำหนดควบคุมการทำงาน เพื่อให้เกิดความพร้อมเพรียง เช่นการพายเรือจังหวะยก-ส่งของ เป็นต้น  การใช้ดนตรีปลุกเร้าอารมณ์ให้เกิดความรัก ความสามัคคีในหมู่คณะ เช่นเพลงปลุกใจ เพลงเชียร์เป็นต้น 
ใช้ เสียงดนตรีเพื่อสร้างบรรยากาศในการประกอบพิธีกรรมต่างๆ ให้ดูศักดิ์สิทธิ์ เคร่งขรึม น่าเชื่อถือ   หรือสื่ออารมณ์ความรู้สึกที่ร่าเริง เบิกบาน สนุกสนาน ในงานเลี้ยงสังสรรค์ งานฉลองต่างๆ เป็นต้น
นอกจากนั้นยังเป็นการสร้างงาน อาชีพ ให้กับบุคคลในสังคมอย่างมากมายทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น นักดนตรี นักร้อง ครูสอนดนตรี นักประพันธ์เพลง นักผลิตรายการคอนเสิร์ต นักดนตรีบำบัดผู้อำนวยการเพลงหรือวาทยากรนักเขียนทางดนตรี นักประดิษฐ์เครื่องดนตรี และผู้ซ่อมหรือปรับเสียงเครื่องดนตรี เป็นต้น
4. ด้านจิตวิทยา  ใช้เสียงดนตรีปรับเปลี่ยนนิสัยก้าวร้าวของมนุษย์ รักษาโรคสมาธิสั้น โดยเฉพาะเด็กจะทำให้มีสมาธิยาวขึ้น อ่อนโยนขึ้น โดยใช้หลักทฤษฎีอีธอส (Ethos) ของ  ดนตรี ซึ่งเชื่อว่าดนตรีมีอำนาจในการที่จะเปลี่ยน
นิสัยของ มนุษย์  จนกระทั่งในบางกรณีสามารถรักษาโรคให้หายได้  ปัจจุบัน มีนักดนตรีบำบัดผู้ซึ่งมีความสามารถฟื้นฟูและบำบัดรักษาความเจ็บป่วยทั้งทางร่างกายและจิตใจ ทำงานในด้านนี้
5. ด้านกีฬา ใช้ดนตรีประกอบกิจกรรมกีฬา เช่น ยิมนาสติกกิจกรรมเข้าจังหวะ การเต้นแอโรบิค เป็นต้น  นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมต่างๆมากมาย ที่ใช้ดนตรีเป็นส่วนประกอบในการดำเนินการทั้งทางตรงและทางอ้อม  อาจกล่าวได้ว่าดนตรีเป็นส่วนประกอบที่ขาดเสียมิได้ในกิจกรรมของสังคมมนุษย์

ที่มา ไขแสง  ศุขะวัฒนะ,สังคีตนิยมว่าด้วย ดนตรีตะวันตก,พิมพ์ครั้งที่ 3,สำนักพิมพ์ ไทยวัฒนาพานิช จำกัด,หน้า 1 – 3
         ค้นคว้า-เรียบเรียง : อ.ชัยวัฒน์  พุมดวง

2 ความคิดเห็น: