วันศุกร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

“ดนตรี” ช่วยสมองดีได้!

ดนตรี” ช่วยสมองดีได้!
นพ.สุรัตน์ ตันประเวช แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบประสาทและสมอง
ดนตรีใช่เพียงแต่จะทำให้ผู้ฟังรู้สึกผ่อนคลาย หากยังมีประโยชน์ต่อสมอง และนำมาใช้ในการรักษาโรคทางระบบประสาทได้
“อันชนใดไม่มีดนตรีกาล ในสันดานเป็นคนชอบกลนัก
อีกใครฟังดนตรีไม่เห็นเพราะ เขานั้นเหมาะคิดขบถอัปลักษณ์”
     เสียงเพลงในพระราชนิพนธ์แปลในรัชกาลที่ 6 ลอยตามลมจากวิทยุทรานซิสเตอร์ของคุณยายข้างบ้านมากระทบโสตประสาทอย่างแผ่วเบาขณะผมนั่งอ่านตำราเรียนอย่างขะมักเขม้น ช่วยให้จิตใจของผมผ่อนคลายจากเนื้อหาอันหนักสมอง หากใคร่ครวญพิจารณาถึงความหมายก็จะพบว่าบทเพลงนี้สะท้อนความสำคัญและอิทธิพลของดนตรีต่อความรู้สึกนึกคิด ตลอดจนสอดแทรกไปยังวัฒนธรรมของผู้คนทุกเชื้อชาติ ถึงขนาดกล่าวได้ว่า หากผู้ใดไม่มีดนตรีในหัวใจแล้วละก็ คงเป็นคนที่นิสัยแปลกประหลาดนัก
ดนตรีกับวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต
     ท่วงทำนองและจังหวะของดนตรีมีความสำคัญต่อการดำรงอยู่รวมไปถึงกระบวนการวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตมายาวนาน “ชาร์ลส์ ดาร์วิน” บิดาแห่งทฤษฎีวิวัฒนาการได้กล่าวไว้ว่า “ธรรมชาติรังสรรค์ท่วงทำนองของสิ่งมีชีวิตขึ้นมาอย่างมีวัตถุประสงค์ ท่วงทำนองแห่งเสียงได้ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการติดต่อสื่อสารระหว่างสิ่งมีชีวิต การดึงดูดเพศตรงข้าม และการเกี้ยวพาราสีของสรรพสัตว์ เมื่อมีวิวัฒนาการมาเป็นมนุษย์ สิ่งเหล่านี้ก็ยังคงมีอิทธิพลก่อให้เกิดการกระตุ้นอารมณ์อันหลากหลาย และยังใช้ในการเร่งเร้าเพื่อการแก่งแย่งแข่งขันนำไปสู่ชัยชนะและความสมปรารถนา”
ดนตรีกับการแพทย์
     เป็นเวลาหลายทศวรรษที่วงการวิทยาศาสตร์และการแพทย์ได้ให้ความสนใจต่ออิทธิพลของดนตรีต่อจิตใจและการทำงานของสมอง กระบวนการรับเสียงดนตรีเริ่มจากเมื่อเสียงดนตรีเข้าไปกระตุ้นอวัยวะรับเสียงที่หูชั้นใน เสียงจะถูกแปลงเป็นกระแสประสาทแล้วถูกส่งไปแปลผลยังสมอง จากนั้นจะมีการติดต่อประสานงานกันของสมองหลายส่วน ซึ่งควบคุมระบบต่างๆ ของร่างกาย ได้แก่ อารมณ์ ความทรงจำ การเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ ระบบการหายใจ ระบบหัวใจและหลอดเลือด รวมไปถึงส่วนเล็กๆ ของร่างกาย เช่น รูขุมขนและต่อมเหงื่อ ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า ดนตรีที่เราได้ยินมีอิทธิพลต่ออวัยวะต่างๆ ของร่างกายอย่างมาก ยกตัวอย่างเช่น บทเพลงเศร้าอาจทำให้น้ำตาไหลหรือหวนคิดถึงเรื่องราวในอดีต หรือบทเพลงปลุกใจทำให้หัวใจเต้นแรงและเกิดความรู้สึกฮึกเหิม เป็นต้น ในทางการแพทย์ ดนตรีได้ถูกนำมาใช้ในการรักษาโรคทางระบบประสาท เช่น โรคสมองเสื่อม โรคพาร์กินสัน โรคหลอดเลือดสมองตีบ และโรคทางจิตเวช
"เมื่อดนตรีสอดประสานกับการเคลื่อนไหว"
ผลของดนตรีต่อโรคพาร์กินสัน
     การเคลื่อนไหวของคนเราทุกอิริยาบถประกอบไปด้วยการทำงานร่วมกันของกล้ามเนื้ออย่างเป็นระบบ จังหวะการเดินแต่ละก้าวเสมือนท่วงทำนองดนตรีทางชีวภาพ ในมนุษย์ สมองส่วนหนึ่งได้ถูกออกแบบให้ทำหน้าที่ควบคุมจังหวะการทำงานของกล้ามเนื้อ เปรียบเสมือนวาทยกรที่ควบคุมเครื่องดนตรีแต่ละชิ้นในวงให้บรรเลงสอดประสานกัน ในผู้ป่วยโรคพาร์กินสันหรือที่รู้จักกันในนาม “โรคสันนิบาตลูกนก” เป็นโรคความเคลื่อนไหวผิดปกติที่มักพบในผู้ป่วยสูงอายุ สาเหตุของโรคนี้เกิดจากความผิดปกติของสมองส่วนที่ควบคุมการประสานงานกันของกล้ามเนื้อ ทำให้การเคลื่อนไหวของร่างกายผิดปกติ โดยผู้ป่วยจะมีอาการมือเท้าสั่น พูดเสียงทุ้ม เคลื่อนไหวช้า หน้าเรียบเฉย ดูไปก็คล้ายกับหุ่นยนต์ที่ขาดน้ำมันหล่อลื่น

      ผลของดนตรีต่อผู้ป่วยโรคพาร์กินสันได้ถูกค้นพบจากมีผู้สังเกตเห็นว่า ในขณะที่ผู้ป่วยเดินอย่างเชื่องช้าอยู่นั้น ฉับพลันที่ได้ยินเสียงดนตรีกลับเคลื่อนไหวตามจังหวะได้อย่างน่าอัศจรรย์ เสมือนกับได้วาทยกรชั้นดีมากำกับการเคลื่อนไหวของร่างกาย ในปัจจุบันได้มีการศึกษาผลของดนตรีต่อโรคพาร์กินสันอย่างแพร่หลาย และดนตรีได้ถูกนำมาบรรจุในโปรแกรมการฟื้นฟูสมรรถภาพการเคลื่อนไหวของร่างกายในผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน ยกตัวอย่างเช่น ในสถาบันการแพทย์วอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้มีการนำดนตรีมาบำบัดผู้ป่วยพาร์กินสันโดยได้มีการจัดชั่วโมงเต้นรำจังหวะแทงโก ผลที่ได้นอกจากจะทำให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวคล่องขึ้นแล้ว ยังทำให้อารมณ์ของผู้ป่วยดีขึ้นอีกด้วย ส่วนในประเทศไทยก็สามารถนำวิธีการเช่นนี้มาประยุกต์ใช้ได้ แต่อาจจะต้องเปลี่ยนบทเพลงเป็นเพลงรำวงสำหรับภาคกลางหรือเพลงหมอลำสำหรับภาคอีสานเท่านั้นเอง
“ท่วงทำนองที่ยังไม่ลืมเลือน”
ผลของดนตรีต่อความจำ

     ความจำเป็นสิ่งมีค่ายิ่ง หากสูญเสียไปย่อมส่งผลต่อการดำรงชีวิตเป็นอย่างมาก โรคที่มีอาการความจำเสื่อม เช่น โรคอัลไซเมอร์ เป็นโรคที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยสูงอายุ โดยในประเทศไทยพบสูงถึง 3.3% ในกลุ่มประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปี และจะเพิ่มขึ้นอีก 10 เท่าในประชากรอายุมากกว่า 90 ปี อาการความจำเสื่อมมักเป็นอาการเริ่มแรกของผู้ป่วยกลุ่มนี้ จากนั้นจึงจะมีความผิดปกติของสมองส่วนอื่นๆ ตามมา จนกระทั่งสูญเสียการทำงานของสมองโดยรวมอย่างสิ้นเชิง อาจเปรียบได้ว่าสมองกำลังเดินทางย้อนเวลากลับไปเป็นทารกอีกครั้งหนึ่ง แต่ทั้งนี้ในหลายกรณีกลับพบว่าถึงแม้ระบบความจำและการใช้ภาษาของผู้ป่วยที่เป็นโรคอัลไซเมอร์จะมีการทำหน้าที่อย่างผิดปกติ แต่ความสามารถและความทรงจำทางด้านดนตรีกลับคงอยู่
จากการศึกษาของทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษพบว่า ในระหว่างการสนทนากับผู้ป่วยที่เป็นโรคอัลไซเมอร์ หากได้มีการเปิดเพลงคลอเบาๆ ไปด้วยจะมีผลทำให้ความจำของผู้ป่วยดีขึ้น สิ่งนี้พิสูจน์ให้เห็นว่าเสียงดนตรีที่ผ่านเข้าไปยังสมองมีผลช่วยในการจัดเรียงระบบการทำงานของเซลล์สมองให้สามารถที่จะจดจำสิ่งใหม่ๆ ได้มากขึ้น กระบวนการนี้จึงถูกนำมาใช้บำบัดผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์เพื่อช่วยกระตุ้นความจำ นอกจากนี้เสียงเพลงดังกล่าวยังทำให้พฤติกรรมและอารมณ์ของผู้ป่วยดีขึ้นอีกด้วย

      อย่างไรก็ดี ผลของดนตรีต่อความจำไม่ได้มีผลดีต่อผู้ป่วยโรคความจำเสื่อมเท่านั้น หากแต่ส่งผลดีต่อคนทั่วไปด้วยเช่นกัน คณะวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียได้ทำการทดสอบประสิทธิภาพของความจำของนักศึกษาโดยให้ฟังเพลงคลาสสิกของโมสาร์ท ผลปรากฏว่าความจำของนักศึกษาที่ผ่านการทดลองมีประสิทธิภาพดีขึ้น ผลดังกล่าวสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการทำงานได้เป็นอย่างดี เช่น การเปิดเพลงระหว่างการทำงานของพนักงานบริษัท หรือการเปิดเพลงในห้องสมุดโรงเรียน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการทำงานและความจำให้ดียิ่งขึ้น
"ไม่ว่าจะปวดกายหรือปวดใจก็คลายได้ด้วยเสียงเพลง"
ผลของดนตรีต่ออาการปวด

     “ความเจ็บปวด” คือความรู้สึกที่มนุษย์ทุกคนพยายามจะหลีกเลี่ยง แต่ต้องเผชิญไม่ว่าจะเป็นการเจ็บปวดทางกาย เช่น จากบาดแผลหรือโรคภัยไข้เจ็บ หรือการเจ็บปวดทางใจ ก็ทำให้เกิดความทุกข์ด้วยกันทั้งสิ้น

      มนุษย์ได้มีการใช้ดนตรีบำบัดความเจ็บปวดผ่านท่วงทำนองต่างๆ มาตั้งแต่สมัยโบราณ เช่น ชนบางกลุ่มใช้การสวดมนต์หรือการร้องเพลงในส่วนหนึ่งของพิธีกรรม เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยคลายจากความทุกข์ทรมานของโรคหรือบาดแผล ในปัจจุบันก็ได้มีการพิสูจน์แล้วว่าผลของดนตรีสามารถใช้ในการบรรเทาอาการปวดได้หลากหลาย ได้แก่ อาการปวดศีรษะ อาการปวดจากโรคเนื้องอก อาการปวดบาดแผลหลังการผ่าตัด หรือแม้แต่อาการปวดที่ว่ากันว่าแสนสาหัสอย่างการปวดครรภ์ โดยพบว่าการฟังดนตรีสามารถลดการใช้ยาแก้ปวดได้มากถึง 50% ทราบอย่างนี้แล้วสามีท่านใดมีภรรยากำลังจะคลอด อย่าลืมติดเพลงโปรดไปให้ภรรยาฟังเวลาเบ่งท้องคลอดด้วยนะครับ
"ดนตรีกับการกระตุ้นสมองส่วนที่เสียไป"
ผลของดนตรีต่อโรคอัมพาต 

     “ฟังเพลงเพียงวันละครั้ง อะไรก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นป๊อป แจ๊ส หรือคลาสสิก ไม่มาก ไม่นาน แค่วันละ 1-2 ชั่วโมง ก็ช่วยให้ท่านฟื้นตัวจากโรคอัมพาตได้”ประโยคนี้ไม่ใช่สิ่งเกินจริงหรือโฆษณาชวนเชื่อขายยาเทวดาคั่นเวลาระหว่างรอฉายหนังกลางแปลง แต่หากเป็นผลอันแท้จริงของดนตรีต่อการฟื้นตัวของสมองที่ถูกทำลายจากโรคอัมพาตที่มีสาเหตุมาจากหลอดเลือดสมองอุดตัน

      เมื่อหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมองเกิดการอุดตันจะมีผลทำให้สมองส่วนนั้นสูญเสียการทำงานไป บางส่วนของสมองจะมีการตายอย่างถาวร โดยในปัจจุบันยังไม่มียาใดๆ ที่สามารถกระตุ้นการทำงานของสมองให้กลับมาทำงานได้ตามปกติ เนื่องจากยาที่ใช้ในปัจจุบันสามารถช่วยป้องกันไม่ให้หลอดเลือดเส้นนั้นตีบมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้นน่าจะเป็นการดีหากมีวิธีใดที่สามารถกระตุ้นสมองส่วนที่เสียไปให้กลับมาทำงานได้ดีขึ้น และเมื่อไม่นานนี้ได้มีการค้นพบว่า “ดนตรี” มีคุณสมบัติดังกล่าว

      คณะนักวิจัยจากประเทศแคนาดาได้ศึกษาผลของดนตรีต่อผู้ป่วยอัมพาต โดยให้ผู้ป่วยที่เป็นอัมพาตเฉียบพลันฟังเพลงที่ชอบระหว่างรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล “ผลที่ได้นับว่ายอดเยี่ยมมาก” นายแพทย์ซากาโมกล่าว “ผู้ป่วยของเรามีความจำและอารมณ์ดีขึ้นอย่างมากหลังจากได้ฟังเพลงที่ตนเองชื่นชอบ เหมือนกับว่าดนตรีเป็นตัวประสานงานให้สมองส่วนที่ยังไม่ถูกทำลายไปช่วยสมองส่วนที่กำลังป่วยอยู่ให้ดีขึ้น เข้าตำราเพื่อนช่วยเพื่อน” นับเป็นเรื่องดีที่สามารถค้นพบวิธีบำบัดให้กับผู้ป่วยที่สูญเสียการทำงานของสมองให้มีอาการดีขึ้น
จากผลของดนตรีดังที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่า ดนตรีมิได้เป็นแต่ส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมของมนุษยชาติเท่านั้น แค่ยังเป็นเสมือนยาวิเศษรักษาโรคทางระบบประสาท นอกจากนี้ยังช่วยทำให้สมองมีความจำและสมาธิที่ดีขึ้น เมื่อทราบอย่างนี้แล้ว อย่าลืมถามคนที่คุณรักนะครับว่า “วันนี้คุณฟังดนตรีหรือยัง”
หมายเหตุผู้เขียน: ขอขอบคุณ คุณกษิดิ คุณวิภูศิลกูล ที่ช่วยหาข้อมูล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น